หน่วยการเรียนรู้ที่ 1

เสื้อผ้าน่าใช้
     1.  การเลือกสวมใส่เครื่องแต่งกายที่เหมาะสม
          การเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับตนเองและถูกกาลเทศะ  จะช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพของเราให้ดูดี  มีสง่า  ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม  ซึ่งควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้


          1.  การเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะกับสีผิว
               การเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสีผิวของผู้สวมใส่  ควรพิจารณาดังนี้
               1.  คนที่มีผิวขาว
                    สามารถเลือกสวมใส่เสื้อผ้าได้ทุกสี  ไม่ว่าจะเป็นสีเข้ม  เช่น  น้ำเงิน  แดง  หรือว่าสีอ่อน  เช่น  ฟ้าอ่อน  เหลืองอ่อน  เป็นต้น
               2.  คนที่มีผิวคล้ำ
                    ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ๆ เช่น  สีชมพูอ่อน  สีเขียวอ่อน  เหลืองอ่อน  หรือฟ้าอ่อน  เพื่อให้ผิวดูขาวขึ้น
          2.  การเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะกับรูปร่าง
               การเลือกใส่เสื้อผ้าให้เหมาะกับรูปร่างเป็นสิ่งสำคัญ  เพราะรูปร่างของคนเราย่อมแตกต่างกัน  บางคนอาจมีรูปร่างผอม  บางคนอาจมีรูปร่างอ้วน  ดังนั้นเราควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับรูปร่างของตนเอง  เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี
               การเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับรูปร่างของผู้สวมใส่  มีวิธีเลือกดังนี้
               1.  คนที่มีรูปร่างผอม  ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมเล็กน้อย  มีสีอ่อน ๆ เช่น  ฟ้าอ่อน  เหลืองอ่อน  ชมพู  เป็นต้น  เพราะจะทำให้ดูตัวใหญ่ขึ้น  ถ้าเสื้อผ้ามีลวดลาย  ควรเลือกสวมใส่ผ้าลายดอกใหญ่หรือลายเส้นตามขวาง  เพื่อให้ดูอ้วนขึ้น
               2.  คนที่มีรูปร่างอ้วน  ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัว  มีสีเข้ม ๆ เช่น  น้ำเงิน  น้ำตาล  ฟ้าเข้ม  เพราะจะทำให้ดูตัวเล็กลง  ถ้าเสื้อผ้ามีลวดลายควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าลายดอกเล็ก ๆ หรือมีลายเส้นแนวตรง  เพื่อทำให้ดูผอม  และสูงขึ้น
          3.  การเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะกับวัย  ควรคำนึงถึงลักษณะของเนื้อผ้า  สีสัน  และรูปแบบของเสื้อผ้า  โดยมีวิธีพิจารณา  ดังนี้
               1.  วัยเด็ก
                    ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้านุ่ม  สวมใส่สบาย  ทนทาน  ดูแลรักษาง่าย  เพราะเด็กยังไม่มีความระมัดระวังเพียงพอ  แบบของเสื้อผ้าควรเป็นแบบที่สวมใส่ง่าย  ถอดง่าย  ควรมีสีอ่อน ๆ เช่น  สีเขียวอ่อน  สีเหลืองอ่อน  สีส้มอ่อน  หรืออาจมีลวดลายการ์ตูนเป็นสีสันสดใส
               2.  วัยรุ่น
                    ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใส  เช่น   สีฟ้า  สีเขียว  สีแดง  สีส้ม  สีเหลือง  รูปแบบเหมาะสมกับโอกาสและสถานที่ที่จะไป
               3.  วัยผู้ใหญ่
                    ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีสีสัน  และรูปแบบสุภาพ  เรียบร้อย  มองดูสง่างามเหมาะสมกับโอกาสและสถานที่ที่จะไป
     2.  การดูแลรักษาเสื้อผ้า
          การดูแลรักษาและถนอมรักษาเสื้อผ้า  มีวิธีปฏิบัติดังนี้
          1.  การซักเสื้อผ้า
               อุปกรณ์ที่ใช้ในการซักผ้ามีดังนี้  ไม้หนีบผ้า  ผงซักฟอก  กะละมัง  กระป๋อง  ตะกร้าใส่ผ้า  แปรงซักผ้า  เก้าอี้
               วิธีซักเสื้อผ้า
               1)  แช่ผ้าในน้ำสะอาดประมาณ 10 นาที  แล้วขยี้ผ้าเพื่อให้ฝุ่นละอองและรอยเปื้อนหลุดออกบ้าง
               2)  นำผงซักฟอกผสมกับน้ำ  ใช้มือตีให้เกิดฟอง  แล้วนำเสื้อผ้าลงแช่ไว้ประมาณ 10-15 นาที
               3)  ขยี้เสื้อผ้าทีละตัว  โดยขยี้ให้ทั่ว  ซึ่งบริเวณที่สกปรกมากอาจใช้แปรงซักผ้าแปรงให้สะอาด  เช่น  บริเวณคอเสื้อ  แขนเสื้อ  และกระเป๋าเสื้อ  เป็นต้น
               4)  นำเสื้อผ้าไปซักในน้ำสะอาดประมาณ 2-3 ครั้ง  ให้หมดฟองผงซักฟอก  แล้วบิดเสื้อเบา ๆ ให้พอหมาด
               5)  นำเสื้อผ้าไปตากไว้บนราวตากผ้า  แล้วใช้ไม้หนีบผ้าหนีบไว้  เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าตกพื้น
     เมื่อซักผ้าเสร็จแล้ว  ควรเก็บเครื่องมือล้างทำความสะอาดผึ่งแดดให้แห้ง  แล้วจัดเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย
          2.  การจัดเก็บเสื้อผ้า
               1.  เสื้อผ้าไม่จำเป็นต้องรีด  เช่น  เสื้อยืด  ชุดชั้นใน  ถุงเท้า  ให้นำมาพับแล้วแยกเก็บเป็นประเภทต่าง ๆ ให้เรียบร้อย
               2.  เสื้อผ้าที่ต้องรีด  เมื่อรีดเสร็จแล้ว  ให้แยกเก็บให้เรียบร้อย  ดังต่อไปนี้
                    1)  เก็บด้วยไม้แขวนเสื้อ  เช่น  ชุดนักเรียน  ชุดทำงาน  ให้ใช้ไม้แขวนเสื้อแขวนโดยจัดทรงให้เรียบร้อยโดยไม่จำเป็นต้องแขวน
          3.  การซ่อมแซมเสื้อผ้า
               เสื้อผ้าที่เราสวมใส่เป็นประจำ  เมื่อใช้ไปนาน ๆ อาจทำให้เกิดการชำรุดเสียหาย  เช่น  กระดุมหลุด  ตะขอหลุด  กระเป๋าขาด  ดังนั้นเราจึงควรรู้จักซ่อมแซมเสื้อผ้า  เพื่อจะได้ใช้เสื้อผ้าอย่างคุ้มค่า  และยังช่วยประหยัดรายจ่ายอีกด้วย
               1.  ประโยชน์ของการซ่อมแซมเสื้อผ้า
                    การซ่อมแซมเสื้อผ้าได้ด้วยตนเองนั้น  ทำให้เราได้รับประโยชน์  ดังนี้
                    1)  ช่วยยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าให้นานยิ่งขึ้น
                    2)  ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัวได้
                    3)  เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว  เช่น  รับจ้างซ่อมแซมเสื้อผ้าง่าย ๆ เป็นต้น
                    4)  เป็นการสใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
                    5)  ทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่สามารถซ่อมแซมเสื้อผ้าด้วยตนเองได้
               2.  วิธีการซ่อมแซมเสื้อผ้า
                    การเก็บตะขอกางเกงหรือกระโปรง
                    การสวมใส่หรือถอดเสื้อผ้าโดยไม่ระมัดระวัง  อาจทำให้ตะขอหลุดออกได้  ดังนั้นนักเรียนจึงควรรู้จักการเย็บหรือเปลี่ยนตะขอ  เพื่อสามารถซ่อมแซมด้วยตนเองได้
                    1)  วัสดุอุปกรณ์  มีดังนี้
                         -  กรรไกร                    -  เข็มเย็บผ้า                    -  ด้าย
                         -  ตะขอแบบแผ่นโลหะ     -  เข็มหมุด
                    2)  การซ่อมแซมตะขอ  มีขั้นตอนดังนี้
                         1.  เลาะด้ายออกจากตะขอที่หลุดให้หมด
                         2.  นำตะขอตัวผู้วางหงายขึ้นตรงตำแหน่งเดิม  แล้วใช้เข็มหมุดตรึงไว้เพื่อไม่ให้ตะขอเลื่อน
                         3.  ใช้เข็มร้อยด้าย  แล้วขมวดปมด้ายตรงส่วนปลาย
                         4.  แทงเข็มโดยสะกิดผ้าด้านหน้าเท่าปลายเข็มผ่านเข้ามาในรูตะขอ  และแทงเข็มลงให้ทะลุรูข้างตะขอ  ทำซ้ำ 7-8  รอบ  แล้วขมวดปมด้ายให้แน่น

                         5.  เย็บตะขอตัวเมียเหมือนวิธีการเก็บตะขอตัวผู้  ซึ่งใช้หลักการเย็บเหมือนกัน  และการวางตะขอตัวผู้และตะขอตัวเมียจะต้องวางให้ตรงกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น